นันทน อินทนนท์
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ หรือที่เรียกว่ากฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลได้กำหนดว่าธุรกิจการให้บริการออนไลน์ที่ในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและโปร่งใส กฎหมายนี้รับแนวคิดมาจากกฎหมายสหภาพยุโรปที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ใช้อำนาจทางตลาดโดยไม่เหมาะสม บทความจะอธิบายหลักการกฎหมายในสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึง P2B Regulation และ Digital Services Act และอธิบายว่าความเกี่ยวข้องกับกฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทย นอกจากนี้บทความนี้ยังอธิบายความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เผชิญในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ |
เมื่อปลายปี 2565 ประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายที่สำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจออนไลน์ฉบับหนึ่ง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีทางในการดำเนินธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พศ. 2565 บทความนี้อธิบายที่มาและหลักการพื้นฐานของกฎหมายฉบับนี้
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า "กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล" ได้นำหลักการและแนวคิดมาจากกฎหมายของสหภาพยุโรปที่มุ่งหมายจะควบคุมไม่ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตใช้อำนาจทางการตลาดโดยไม่ชอบ จึงได้มีการออกหลักเกณฑ์ทางกฎหมายมาเพื่อควบคุมให้การประกอบธุรกิจออนไลน์เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น
แนวคิดของกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล
ก่อนที่จะอธิบายหลักการต่าง ๆ ตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย ขออธิบายหลักการของกฎหมายในสหภาพยุโรปก่อนว่าแนวคิดในการออกออกหมายในสหภาพยุโรปนั้น แท้จริงก็คือการพยายามควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลคุกคามต่อสหภาพยุโรปค่อนข้างมาก ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ในโลกล้วนแต่เป็นธุรกิจที่มีรากฐานจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการการซื้อขายออนไลน์อน่าง Amazon ผู้ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Twitter และ Instagram หรือผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลอย่าง Google และผู้ให้บริการข้อมูลวีดีโออย่าง YouTube เป็นต้น ผู้ให้บริการเหล่านี้ล้วนแค่มีอำนาจและอิทธิพลทั้งต่อผู้ประกอบการค้าขายสินค้าในสหภาพยุโรปที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ในการนำสินค้าออกจำหน่าย ดังนั้น หากแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่เข้าไปเสนอขายสินค้าหรือบริการ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบกับภาคธุรกิจในสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก |
ในทำนองเดียวกัน แพลตฟอร์มเหล่านี้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคและประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าในทางการเมืองหรือในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้สามารถที่จะกำหนดทิศทางในการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ไม่ยากนัก ปัญหาเหล่านี้นั่นเองทำให้สหภาพยุโรปต้องมีกฎหมาย 3 ฉบับออกมาคือ Platform to Business Regulation (หรือ P2B Regulation) ที่ออกมาควบคุมกำกับไม่ให้ผู้ให้บริการกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม และมีกฎหมาย Digital Services Act ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีกฎหมาย Digital Markets Act ที่มีลักษณะเดียวกับกฎหมายแข่งกันทางการค้ามาควบคุมการประกอบกิจการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ด้วย |
กฎหมายของสหภาพยุโรปนั้นมุ่งควบคุมกำกับผู้ให้บริการขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างมาก โดยกฎหมาย P2B Regulation ใช้วิธีการกำหนดให้ผู้บริการแพลตฟอร์มต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไข (Terms & Conditions) กับผู้ประกอบการ (business user) ที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย และต้องแจ้งเงื่อนไขในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ทราบทั้งก่อนและในขณะเข้าทำสัญญาเพื่อให้มีการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีกลไกในการรับข้อร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทด้วย มาตรการที่สหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อควบคุมกำกับก็คือการกำหนดให้ข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายจะตกเป็นโมฆะหรือไม่มีผลใช้บังคับทางกฎหมายได้
ส่วนกฎหมาย Digital Services Act นั้นมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Illegal content) โดยมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนทางกฎหมาย จัดให้มีมาตรการการรับการแจ้งเตือน (Notice and action mechanism) และการระงับข้อพิพาท รวมทั้งมีการเปิดเผยปัจจัยหลักที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูลต่อผู้บริโภค เช่น การโฆษณาหรือการแนะนำสินค้าแก่ผู้บริโภคไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขที่ทำกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยังมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานประเภทต่าง ๆ เช่น รายงานความโปร่งใส และโฆษณารายงานนั้นต่อสาธารณชนอีกด้วย
สำหรับพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ของไทยนั้นเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 32 ที่กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อนได้
ในกรณีของการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการแจ้งการประกอบธุรกิจนั้นก่อนการเริ่มประกอบธุรกิจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายและตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์กำหนดด้วย ซึ่งการไม่แจ้งการประกอบกิจการจะมีโทษทางอาญาอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะมีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาทิเช่น หน้าที่ในการแจ้งข้อมูลต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และต่อผู้ใช้บริการ หน้าที่ในการจัดให้มีมาตรการต่าง ๆ ตามที่กำหนด เช่น มาตรการในการรับข้อร้องเรียน มาตรการป้องกันความเสี่ยง หน้าที่ในการจัดทำรายงานเสนอต่อสำนักงานฯ หน้าที่ในการแต่งตั้งผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น หน้าที่ของผู้ประกอบการเหล่านี้มีทั้งก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ ระหว่างการประกอบธุรกิจ และเมื่อจะเลิกการประกอบธุรกิจ ประการสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องจัดทำข้อตกลงและเงื่อนไข (Terms & Conditions) ที่ทำกับทั้งผู้ประกอบการ (Business user) และทำต่อผู้บริโภค (Consumer) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยฉบับนี้ได้นำหลักเกฑ์ของกฎหมายสหภาพยุโรปทั้ง 2 ฉบับคือ P2B Regulation และ Digital Services Act มารวมกันเป็นกฎหมายฉบับเดียว ในขณะที่กฎหมายสหภาพยุโรปนั้นมุ่งที่จะควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก นอกจากนี้ ในขณะที่กฎหมายของสหภาพยุโรปไม่ได้มีระบบในการแจ้งการประกอบธุรกิจต่อหน่วยงานของรัฐ แต่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ควบคุมการประกอบการของตนเองให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยได้กำหนดหน้าที่ในการแจ้งการประกอบธุรกิจต่อหน่วยงานของรัฐ และกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการทั้งที่มีต่อหน่วยงานของรัฐและต่อผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค การกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลครอบคุมถึงทั้งผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทยจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องมีภารกิจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในทำนองเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ก็มีภารกิจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้มีหน้าที่ต้องเตรียมการตั้งแต่การตรวจสอบว่าตนเองเป็นผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มประเภทใดและมีหน้าที่อย่างไรบ้าง และผู้ประกอบธุรกิจยังมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งที่ทำต่อผู้ประกอบการอื่นและผู้บริโภคให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อดำเนินการแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ให้มีมาตรการต่าง ๆ ตามที่กำหนดกำหนดและจัดเตรียมการทำรายงานประจำปีซึ่งต้องมีข้อมูลทั้งรายได้จากการประกอบธุรกิจ จำนวนผู้ใช้บริการในรอบปีนั้นเสนอต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ได้เข้ามาควบคุมกำกับการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้การประกอบธุรกิจเป็นไปโดยโปร่งใสและก่อให้เกิดความป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันมากยิ่งขึ้น