ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำมีความรับผิดชอบในทางกฎหมายที่แตกต่างจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป โดยผู้ให้บริการประเภทนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ETDA ก่อนการประกอบธุรกิจ แต่ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การยื่นรายงานโดยย่อ การแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร การยื่นรายงานประจำปี และการแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการประเภทนี้ควรที่จะตรวจสอบเสมว่าการให้บริการของตนเองเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และควรตระหนักว่าสถานะการเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปก็ได้ หากรายได้หรือจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้ถึงจำนวนที่กฎหมายกำหนด หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการประกอบธุรกิจในอนาคต |
กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลได้กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก คำว่า “ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ” นั้น ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพรฎ. การประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ แต่มีการใช้ในประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง บทความนี้อธิบายว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำคือใครและมีหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง
ความหมายของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ
ก่อนอื่นควรทราบว่าผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ”
ในกฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์มหรือพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ไม่ปรากฏคำดังกล่าวนี้ แต่คำนี้จะปรากฏอยู่ในประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แบบการแจ้งก่อนการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตามหากศึกษากฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลประกอบกับประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องลักษณะของการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ต้องแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนการประกอบธุรกิจฯ จะเข้าใจได้ว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ” หมายความถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า “ผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 8 วรรคสี่” ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยไม่เกิน 5,000 รายต่อเดือน และมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการให้บริการในประเทศไทยไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หรือไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา
ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มีไว้เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของเจ้าของบริการเท่านั้น (E-service) ที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน หรือมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการให้บริการในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่มีการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ประกอบอยู่ด้วย คือ
บริการเว็บบอร์ด (Web board) ที่ใช้เฉพาะเพื่อเป็นช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการ สำหรับสอบถามปัญหาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดังกล่าว
บริการแสดงลิงก์หรือตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูล (Hyperlinks/ Banner) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการในการเข้าถึงเว็บไซต์หรือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น
หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็ก หรือที่มีผลกระทบต่ำ
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้ง 2 ประเภทนี้ถือเป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ” จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานฯ ก่อนการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการเหล่านี้ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายดังต่อไปนี้คือ
หน้าที่ในการแจ้งรายการโดยย่อก่อนการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้ที่ให้บริการที่มีการให้บริการมาก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2566 จะต้องแจ้งรายการโดยย่อต่อสำนักงานฯ ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 หรือภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลมีผลใช้บังคับ
หน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร (กรณีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร)
หน้าที่แจ้งรายการโดยย่อให้สำนักงานทราบทุกปี (ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนรวมผู้ใช้บริการและจำนวนของผู้ใช้บริการแต่ละประเภท) ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ 60 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
หน้าที่แจ้งการเลิกประกอบธุรกิจให้สำนักงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันที่จะเลิกประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของเจ้าของบริการเท่านั้น (E-service) ที่มีบริการเว็บบอร์ด (Web board) ต้องมีมาตรการควบคุมดูแลการใช้เว็บบอร์ด (Web board) ให้เป็นไปช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการ สำหรับสอบถามปัญหาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเท่านั้น และผู้ให้บริการที่มีบริการแสดงลิงก์หรือตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูล (Hyperlinks/ Banner) ต้องมีมาตรการควบคุมดูแลหรือจัดการไม่ให้มีการนำเสนอลิงก์หรือตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูล (Hyperlinks/ Banner) ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย
แม้ว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำจะไม่มีหน้าที่ในการแจ้งการประกอบธุรกิจและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นที่กำฆมายดิจิทัลแพลตฟอร์มกำหนด แต่พึงระลึกเสมอว่าสถานะของการเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั่วไปที่มีหน้าที่ตามกฎหมายมากขึ้น เช่น เมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจหรือจำนวนผู้ใช้บริการตามที่กฎหมายกำหนดหรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ไม่ได้รับข้อยกเว้นในการแจ้งการประกอบธุรกิจก็ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบกิจกรรมการค้าขายของตนเองบนอินเทอร์เน็ตเสมอ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงทีและถูกต้อง